การรีไฟแนนซ์บ้าน คือ การยื่นกู้เงินจากสถาบันการเงินใหม่ (ทำเรื่องขอกู้ใหม่) เพื่อนำไปปลดภาระเงินกู้เก่าที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน ซึ่งประโยชน์ของการรีไฟแนนซ์บ้าน ก็คือ การยื่นกู้จากสถาบันการเงินใหม่ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า เพื่อช่วยลดภาระค่าผ่อนชำระต่อเดือน และยังช่วยให้ผ่อนบ้านหมดได้เร็วขึ้นนั่นเอง
การ Refinance บ้าน
ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะสามารถทำให้เราประหยัดเงินจากดอกเบี้ยได้เป็นแสน แต่ก็ยังมีคนที่ทำการรีไฟแนนซ์บ้านอยู่น้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นเพราะว่า ไม่รู้ว่าการรีไฟแนนซ์ทำอย่างไร ทำให้เสียโอกาสที่จะผ่อนบ้านหมดเร็วขึ้นในที่สุด
อยากรีไฟแนนซ์บ้านต้องเริ่มจากอะไร?
สิ่งแรกสำหรับผู้ที่อยากรีไฟแนนซ์บ้านต้องทำ คือ การตรวจสอบสัญญากู้ของตัวเอง ว่า "รีไฟแนนซ์ได้เมื่อไหร่" โดยส่วนใหญ่ สัญญาเงินกู้จะอนุญาตให้เรารีไฟแนนซ์บ้านไปกับธนาคารอื่น (บางธนาคารใช้คำว่า "ไถ่ถอน") หลังจากผ่อนมาแล้วทุกๆ 3 ปี
"เราสามารถทำเรื่องรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ได้ตั้งแต่ก่อนผ่อนครบ 3 ปี เพราะธนาคารใหม่ ต้องใช้เวลาพิจารณา ประเมินราคา และทำเรื่องอนุมัติสินเชื่อช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไป เราสามารถยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์บ้านกับธนาคารใหม่ได้ตั้งแต่ 1-2 เดือนก่อนครบ 3 ปี"
House Refinancing
เลือกธนาคารและเตรียมเอกสารที่จะรีไฟแนนซ์บ้าน
ถ้าเลือกธนาคารอย่างรอบคอบ เราจะได้ตัวที่ดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด ณ ขณะนั้น และจะประหยัดดอกเบี้ยโดยรวมได้ถึงหลักแสนเลยทีเดียว หลังจากนั้นก็เตรียมเอกสารที่ต้องยื่นกับธนาคารหลักๆ ดังนี้
- เอกสารแสดงข้อมูลส่วนผู้กู้ ได้แก่ บัตรประชาชน / สำเนาทะเบียนบ้าน / สำเนาทะเบียนสมรส
- เอกสารด้านหลักประกันการกู้ ได้แก่ โฉนดที่ดิน / สัญญาเงินกู้ธนาคารเดิม
- เอกสารแสดงรายได้ผู้กู้ ได้แก่ สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน / สำเนาเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
หลังจากเตรียมเอกสารต่างๆ ครบแล้ว ก็ทำการยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์กับธนาคารใหม่ ซึ่งปกติแล้วหลังจากที่ยื่นเรื่องรีไฟแนนซ์พร้อมส่งเอกสารเรียบร้อย ธนาคารจะทำการนัดหมายเพื่อส่งคนมาประเมินราคาหลักประกัน(บ้านของเรา) และใช้เวลาพิจารณาอนุมัติประมาณ 2-4 สัปดาห์
การรีไฟแนนซ์บ้านมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?
การรีไฟแนนซ์บ้านจะมีค่าใช้จ่ายอยู่ 5 อย่างหลักๆ คือ
- ค่าประเมินราคา ประมาณ 2,000 - 3,000 บาท (บางช่วงเวลา ธนาคารก็มีโปรโมชั่น ฟรีค่าประเมินราคา)
- ค่าจดจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ (บางช่วงเวลา ธนาคารก็มีโปรโมชั่น ฟรีค่าจดจำนอง)
- ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
- ค่าประกันอัคคีภัย
- ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของธนาคาร เช่น ค่าธรรมเนียมสินเชื่อ (แล้วแต่ธนาคาร)
ซึ่งหลายๆ ธนาคารก็ออกมาแข่งกันฟรีค่าธรรมเนียมต่างๆ เหล่านี้ เพื่อดึงดูดลูกค้า และมีการอัปเดตกันอยู่บ่อยๆ และรายการเอกสารที่ต้องเตรียม เป็นรายการเอกสารที่หลายธนาคารให้เตรียมในเบื้องต้นเท่านั้น
ธนาคารแต่ละแห่งอาจจะมีเอกสารที่ต้องการเพิ่มเติม ทั้งนี้ ควรติดต่อธนาคารทที่ต้องการยื่นรีไฟแนนซ์อีกครั้ง เพื่อความชัดเจน ถูกต้อง จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกที่สุด และไม่ต้องเสียเวลายื่นเอกสารเพิ่มเติมหลายครั้ง