การขอกู้เงินธนาคารเพื่อสร้างบ้าน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

แชร์
Share to Line
Share to Twitter
Share to Facebook
การขอกู้เงินธนาคารเพื่อสร้างบ้าน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
อัปเดต: วันที่ 29 ก.ย. 64 เวลา 9:55 น.
เข้าชม: 65,035 ครั้ง

การขอกู้ธนาคารเพื่อสร้างบ้าน ตัวช่วยสร้างฝันให้กลายเป็นจริง

“การสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง” เป็นความฝันของคนอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่การสร้างบ้านบนที่ดินเปล่านั้น มีรายละเอียดและขั้นตอนมากกว่าการซื้อบ้านจัดสรรจากโครงการต่างๆ เพราะเจ้าของบ้านจะต้องดำเนินการเองตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของบ้านบางรายแทบถอดใจ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะฝันสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง เรามาดูกันว่ามีขั้นตอนอย่างไงบ้าง

 

1. จะสร้างบ้าน ก็ต้องมีที่ดินของตัวเองก่อน

การสร้างบ้านลักษณะนี้ ชื่อกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินควรเป็นชื่อของผู้ที่จะก่อสร้างบ้าน เพราะจะทำให้ง่ายต่อการทำเรื่องขออนุญาต รวมถึงการขอกู้เงินกับธนาคารก็จะสะดวกง่ายดาย และการสร้างบ้านบนที่ดินของคนอื่นจะมีรายละเอียดยุ่งยากมากกว่าที่ดินเป็นชื่อของพ่อแม่ญาติพี่น้อง หากอยากให้ง่าย ก็ควรจะโอนชื่อให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ที่จะยื่นขอกู้สร้างบ้าน แต่ถ้าโอนให้ไม่ได้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เจ้าของที่ดินที่มีชื่อในโฉนด ก็จะต้องมีส่วนยื่นกู้ร่วมด้วย ซึ่งก็จะทำให้ยุ่งยากทั้งเวลายื่นขอสร้างบ้าน และยื่นขอกู้ ทางที่ดีที่สุดคือ กรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ควรเป็นชื่อของผู้ที่จะก่อสร้างบ้าน นั่นเอง

 

ที่ดินเปล่าที่ใช้ในการสร้างบ้าน

ที่ดินเปล่าที่ใช้ในการสร้างบ้าน

 

2. หาแบบบ้านที่ถูกใจ

สิ่งสำคัญที่จะทำให้บ้านที่จะเริ่มก่อสร้างตรงกับความต้องการ คือ การมีแบบบ้านหรือแบบก่อสร้าง แต่ละแบบ ก็จะมีรายละเอียดมากน้อยแตกต่างกัน ปัจจุบันมีแบบบ้านมากมายให้เลือกดังนี้

 

แบบบ้านฟรี

การเลือกแบบบ้านฟรีก็จะช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้างได้ เพราะไม่ต้องเสียค่าออกแบบบ้านให้กับนักออกแบบ ซึ่งสามารถหาได้จากสำนักงานเขต จะมีแบบบ้านของหน่วยงานโยธาไว้บริการฟรี หรือหรือจากเว็บไซต์อินเตอร์เน็ต แล้วค่อยหาผู้รับเหมาให้มาก่อสร้างให้ แต่ก็อย่าลืม ต้องมีวิศวกรออกแบบ และควบคุมงานลงชื่อในการยื่นขออนุญาตด้วย

 

แบบบ้านสำเร็จรูป

เป็นแบบบ้านที่ถูกออกแบบไว้แล้ว ทั้งแบบแปลนบ้านและสไตล์หน้าตาบ้าน  ซึ่งแบบบ้านสำเร็จรูปจะประกอบไปด้วย แบบสถาปัตยกรรม (ฟังก์ชั่นของอาคาร และรูปด้านต่างๆ ของบ้าน) แต่ก็ต้องให้วิศวกร ออกแบบโครงสร้าง และลงชื่อในเอกสาร จึงจะสามารถนำไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างได้

ปัจจุบันก็มีให้เลือกมากมาย หลายขนาด หลายสไตล์ แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน 100%

เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ถูกออกแบบไว้แล้ว แต่สำหรับผู้ให้บริการบางบริษัทก็มีบริการปรับแบบบ้านให้ ทั้งนี้ ก็เพื่อจะช่วยให้ได้แบบบ้านที่ตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้านนั่นเอง และที่สำคัญ ก่อนจะตัดสินใจเลือกแบบบ้านสำเร็จรูป ต้องพิจารณาถึงลักษณะและขนาดของที่ดินเปล่า ด้วยว่า ที่ดินมีความกว้าง ยาวเท่าไร และมีลักษณะเป็นแบบไหน จะรองรับแบบบ้านที่เลือกได้ไหม (ต้องลงที่ดินได้โดยไม่ชิดขอบที่ดินจนผิดกฎหมาย) ดังนั้นจึงพิจารณาเรื่องที่ดินที่มีอยู่ประกอบด้วย เพื่อจะได้เลือกแบบบ้านได้อย่างเหมาะสม

 

ออกแบบบ้านใหม่โดยสถาปนิก

จะเป็นการออกแบบใหม่ทั้งหมดตามความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นพิเศษ สามารถตอบโจทย์ และตรงใจเจ้าของบ้านได้ในทุกมิติ บ้านที่ออกแบบโดยสถาปนิก จะเหมาะกับคนที่มีความต้องการบ้านที่ไม่ซ้ำใคร ทั้งในเรื่องรสนิยมความชอบ การดีไซน์ อยากได้ส่วนที่เฉพาะเจาะจง หรือมีข้อจำกัดเรื่องที่ดินในการปลูกสร้างที่ไม่สามารถรองรับแบบบ้านสำเร็จรูปได้ที่สำคัญทุกครั้งก่อนที่จะทำการออกแบบ อย่าลืมแจ้งให้สถาปนิกทราบถึงงบประมาณที่จะใช้สร้างบ้านด้วย เพื่อให้สถาปนิกออกแบบบ้าน ให้สมดุลกับงบประมาณที่เราตั้งไว้

 

3. ขออนุญาตสร้างบ้าน

การก่อสร้างอาคาร บ้านเรือน จะต้องมีเรื่องของกฎหมายต่างๆ มาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่การถมที่ดินไปจนถึงการสร้างสิ่งปลูกสร้าง โดยสามารถศึกษาเรื่องการถมดินในการสร้างบ้านเบื้องต้นได้ตามอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการจะก่อสร้างสิ่งก่อสร้างใดๆ ก็ตามจะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งการติดต่อขอใบอนุญาตตรงนี้จะเป็นหลักประกันว่า การก่อสร้างบ้านของผู้กู้สร้างบ้านนั้น จะไม่ประสบปัญหาใดๆ ย้อนหลัง และไม่มีผลต่อการปล่อยกู้จากธนาคาร

 

ผู้รับเหมาก่อสร้างคุณภาพ

ผู้รับเหมาก่อสร้างคุณภาพ

 

4. เลือกผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณภาพ และไม่ทอดทิ้งเรา

การเลือกผู้รับเหมาที่มีความเป็นมืออาชีพในการสร้างบ้าน จะช่วยลดปัญหาจุกจิกในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี โดยสามารถหาจาก การแนะนำของคนใกล้ชิด ดูจากประสบการณ์ในการทำงาน หรือดูจากความน่าเชื่อถือของบริษัท ยิ่งบริษัทรับเหมามีความน่าเชื่อถือมากเท่าไร สถาบันการเงินก็จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายยิ่งขึ้น  เมื่อเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้านได้แล้วเราก็ให้เขาจัดการออกแบบบ้าน โดยแจ้งรูปแบบบ้านสไตล์บ้านที่ต้องการ งบประมาณในการก่อสร้าง ขนาดที่ดินที่ใช้ในการปลูกสร้าง ในขั้นตอนนี้เราสามารถตกลงกับผู้รับเหมาได้ว่าถ้าสามารถยื่นกู้ผ่านเราจะจ้างเขา และถ้าหากกู้ไม่ผ่านจะจ่ายค่าเขียนแบบให้เขาได้เท่าไรเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต

 

เลือกแบบบ้านที่ถูกใจและเริ่มการก่อสร้าง

เลือกแบบบ้านที่ถูกใจและเริ่มการก่อสร้าง

 

5. ติดต่อธนาคารยื่นเรื่องกู้สร้างบ้าน

การเตรียมเอกสารเหมือนการกู้ทั่วไป ตั้งแต่สำเนาบัตรประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน, สลิปเงินเดือน, สำเนาบัญชี เงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือน, หนังสือรับรองเงินเดือน, สำเนาบัญชีเงินฝาก ฯลฯ

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้าน ทั้งแบบแปลนบ้าน ใบขออนุญาตก่อนสร้าง ร่างสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมา โฉนดที่ดิน และที่สำคัญคือการออกไปตรวจหลักประกันของธนาคาร ในขั้นตอนนี้อาจต้องใช้เวลารอ ซึ่งในการยื่นขอกู้ควรจะมีธนาคารสำรองไว้สัก 2 - 3 แห่ง เพื่อเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย และวงเงินกู้ที่จะได้รับ รวมถึงโปรโมชั่นหรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แต่ละธนาคารจะเสนอให้กับผู้กู้

เมื่อได้รับการอนุมัติเงินกู้สร้างบ้านแล้ว ก่อนที่จะไปเซ็นสัญญารับเงินกู้กับธนาคาร ทางธนาคารอาจขอพิจารณาปรับเปลี่ยนสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมา ในเรื่องการจ่ายงวดงานให้เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กู้ เสียเปรียบจากผู้รับเหมา โดยปกติแล้ว ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นงวดๆ หลังจากงวดงานเสร็จสิ้นเท่านั้น จะไม่จ่ายเป็นเงินก้อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กู้นำเงินไปใช้นอกเหนือจากการก่อสร้างบ้านที่ธนาคารอนุมัติไว้

 

6. สร้างบ้านเสร็จแล้ว มีหน้าที่ต้องแจ้งนายทะเบียน

เมื่อปลูกสร้างบ้าน สร้างอาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เจ้าบ้านไปแจ้งต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งแห่งท้องที่นั้นๆ คือ นายทะเบียนท้องถิ่น หรือกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือปลัดอำเภอ หรือผู้ช่วยนายทะเบียน ณ สำนักงานเทศบาล สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ แล้วแต่กรณี เพื่อขอเลขประจำบ้านภายใน 15 วัน (เลขที่บ้าน) นับแต่วันปลูกสร้างบ้านเสร็จ หากไม่ไปแจ้งตามกำหนดมีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งได้รับแจ้งการสร้างบ้านใหม่แล้ว ให้ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานที่นำไปแสดง เมื่อเห็นว่าถูกต้อง ก็ให้กำหนดเลขประจำบ้าน(เลขที่บ้าน) ให้พร้อมกับจัดทำทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้านต่อไป โดยจะมอบสำเนาทะเบียนบ้านให้แก่ผู้แจ้งไว้เป็นหลักฐาน เพื่อดำเนินการในเรื่องการย้ายบุคคลเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านในโอกาสต่อไป หรือจะดำเนินการในคราวเดียวกันก็ได้ ส่วนเลขประจำบ้านที่นายทะเบียนกำหนดให้นั้น ให้เจ้าบ้านไปจัดทำเลขประจำบ้านติดไว้ที่หน้าบ้าน หรือที่รั้วบ้านซึ่งเห็นได้ชัดแจ้ง

 

 

บทความการก่อสร้างล่าสุด

บริการรับสร้างบ้าน ต่อเติมและรีโนเวทบ้านของเรา

บริษัท ทีทีเอ็ม คอนสตรัคชั่น จำกัด
เลขที่ 58 ซ.รามคำแหง 58/3 แยก 4 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240 เปิดแผนที่นำทาง
Phone: 086-411-4293   Line: @TTMConstruction  
© 2024 TTM Construction Co., Ltd. All rights Reserved.
TTM Construction's Facebook
แนะนำบริการ รับออกแบบเว็บไซต์